อนุราธสูตร

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
ใกล้พระนครเวสาลี
ก็สมัยนั้น
ท่านพระอนุราธะ อยู่ที่กระท่อมในป่า
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น
อัญญเดียรถีย์ปริพาชก พากันเข้าไปหา ท่านพระอนุราธะจนถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัย กับท่านพระอนุราธะ
ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
จึงได้กล่าวกะท่านอนุราธะว่า
ดูกรท่านอนุราธะ
พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ
ทรงถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ
ย่อมทรงบัญญัติ
ในฐานะ ๔ นี้ คือสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว
ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑ ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ก็หามิได้ ๑
เมื่อพวกปริพาชก กล่าวอย่างนั้นแล้ว
ท่านพระอนุราธะ ได้กล่าวกะอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้นว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย
พระตถาคตทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นยอดบุรุษ
ทรงถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติ
นอกจากฐานะ ๔ เหล่านี้
คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว
ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑ ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑
เมื่อท่านพระอนุราธะ กล่าวอย่างนั้นแล้ว
อัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นได้กล่าว กะท่านพระอนุราธะว่า
ภิกษุนี้จักเป็นภิกษุใหม่ บวชแล้วไม่นาน
ก็หรือว่าเป็นภิกษุเถระ
แต่โง่เขลาไม่ฉลาด
ครั้งนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกล่าว รุกรานท่านพระอนุราธะ
ด้วยวาทะว่าเป็นภิกษุใหม่ และเป็นผู้โง่เขลาแล้ว
พากันลุกจากอาสนะหลีกไป

เมื่ออัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น หลีกไปแล้วไม่นาน
ท่านพระอนุราธะได้มี ความคิดว่า
ถ้าอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น
พึงถามเราต่อไป เมื่อเราพยากรณ์อย่างไร
จึงจะชื่อว่า ไม่เป็นผู้กล่าว ตามที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นกล่าวแล้ว
และชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตาม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
ไม่พึงกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำอันไม่จริง
และพึงพยากรณ์ธรรม สมควรแก่ธรรม
ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ
จะไม่พึงถึงฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้

ลำดับนั้น ท่านพระอนุราธะ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค จนถึงที่ประทับ ฯลฯ
แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานพระวโรกาส
ข้าพระองค์อยู่ที่กระท่อมในป่า ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเป็นอันมาก
พากันเข้าไปหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ฯลฯ
กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ดูกรท่านพระอนุราธะ
พระตถาคตทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นยอดบุรุษ
ทรงถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ ในฐานะ ๔ เหล่านี้
คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว
ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑ ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดก็หามิได้ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว
ข้าพระองค์จึงได้กล่าว กะพวกเขาว่า
ดูกรท่านทั้งหลาย
พระตถาคตทรงเป็นอุดมบุรุษ ทรงเป็นยอดบุรุษ
ทรงถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะทรงบัญญัติ ย่อมทรงบัญญัติ
นอกจากฐานะ ๔ เหล่านี้ คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว
ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑ ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อข้าพระองค์ กล่าวอย่างนั้นแล้ว
อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า
ภิกษุนี้จักเป็นภิกษุใหม่ บวชไม่นาน
ก็หรือว่าเป็นเถระ แต่โง่เขลาไม่ฉลาด
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น รุกรานข้าพระองค์ด้วยวาทะว่า เป็นผู้ใหม่
เป็นผู้เขลาแล้ว
ลุกจากอาสนะหลีกไป
เมื่ออัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น หลีกไปแล้วไม่นาน
ข้าพระองค์เกิดความคิดว่า ถ้าอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหล่านั้น
พึงถามเราต่อไป
เมื่อเราพยากรณ์อย่างไร^ จึงจะชื่อว่าไม่เป็นผู้กล่าว
ตามที่อัญญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้นกล่าวแล้ว
และชื่อว่าเป็นผู้กล่าว ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
ไม่พึงกล่าวตู่พระผู้มีพระภาค ด้วยคำอันไม่จริง
และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะ อันวิญญูชนจะติเตียนได้

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรอนุราธะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
อ เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า
พ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
อ ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
อ ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า
พ เพราะเหตุนี้แล ฯลฯ
อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
ย่อมรู้ชัดว่า ฯลฯ
กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
พ ดูกรอนุราธะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นรูป ว่าเป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เป็นสัตว์บุคคลหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ ดูกรอนุราธะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในรูปหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากรูปหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในเวทนาหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากเวทนาหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในสัญญาหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากสัญญาหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในสังขารหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากสังขารหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลในวิญญาณหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลอื่นจากวิญญาณหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ ดูกรอนุราธะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคล มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พ ดูกรอนุราธะ
เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
เธอย่อมเห็นว่า สัตว์บุคคลนี้ไม่มีรูป ไม่มีเวทนา ไม่มีสัญญา ไม่มีสังขาร ไม่มีวิญญาณ อย่างนั้นหรือ?
อ ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พ ดูกรอนุราธะ
ก็โดยที่จริง โดยที่แท้ เธอค้นหาสัตว์บุคคล ในขันธ์ ๕ เหล่านี้ ในปัจจุบันไม่ได้เลย
ควรแลหรือที่เธอจะพยากรณ์ว่า
พระตถาคตเป็นอุดมบุรุษ เป็นยอดบุรุษ
ถึงความบรรลุชั้นเยี่ยม
เมื่อจะบัญญัติ ย่อมบัญญัติ
เว้นจากฐานะ ๔ เหล่านี้
คือ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว
ย่อมเกิดอีก ๑ ย่อมไม่เกิดอีก ๑ ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี ๑ ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้ ๑?
อ ข้อนั้นไม่ควรเลย พระเจ้าข้า
พ ถูกละๆ อนุราธะ
ทั้งเมื่อก่อนและทั้งบัดนี้
เราย่อมบัญญัติทุกข์ และความดับทุกข์