เทวทหสูตร

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ นิคมเทวทหะ
ของศากยะทั้งหลายในสักกชนบท
ครั้งนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน
ปรารถนาจะไปสู่ปัจฉาภูมชนบท
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว
นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์ปรารถนา จะไปสู่ปัจฉาภูมชนบท
เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัย ในปัจฉาภูมชนบท
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เธอทั้งหลายลาสารีบุตรแล้วหรือ?
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า
พวกข้าพระองค์ ยังมิได้ลาท่านพระสารีบุตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงไปลาสารีบุตรเถิด
สารีบุตรเป็นบัณฑิตอนุเคราะห์ เพื่อนพรหมจารี
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
ก็สมัยนั้นแล
ท่านพระสารีบุตร
นั่งอยู่ในมณฑปเล็กๆแห่งหนึ่ง
ที่มุงด้วยตะใคร่น้ำ
ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น
ชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค
ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาท
ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้ว
พากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร
กล่าวคำปราศรัย กับท่านพระสารีบุตร
ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า
ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร
ข้าพเจ้าทั้งหลาย
ปรารถนาจะไปปัจฉาภูมชนบท
เพื่อสำเร็จการอยู่อาศัย ในปัจฉาภูมชนบท
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
ท่านทั้งหลาย กราบทูลลาพระศาสดาแล้วหรือ?
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
เป็นผู้ถามปัญหากะภิกษุ
ผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆมีอยู่
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็พวกมนุษย์ที่เป็นบัณฑิต
ทดลองถามว่า พระศาสดาของพวกท่าน
มีวาทะอย่างไร?
ตรัสสอนอย่างไร?
ธรรมทั้งหลายพวกท่านฟังดีแล้ว
เรียบร้อยดีแล้ว
ใส่ใจดีแล้ว
ทรงจำดีแล้ว
แทงตลอดดีแล้ว
ด้วยปัญญาบ้างหรือ?
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อพยากรณ์อย่างไร?
จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตาม
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว
จะไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค
ด้วยคำไม่จริง
และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
ทั้งการคล้อยตามวาทะ ที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะ
อันวิญญูชนจะติเตียนได้
ภิ. ข้าแต่ท่านผู้มีอายุ
ข้าพเจ้าทั้งหลาย
มาแม้แต่ที่ไกล
เพื่อจะรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักท่านพระสารีบุตร
ดีละหนอ
ขอเนื้อความแห่งภาษิตนั้น
จงแจ่มแจ้งกะท่านพระสารีบุตรเถิด
ส. ถ้าเช่นนั้น
ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้น
รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า
ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็กษัตริย์เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์เป็นบัณฑิตบ้าง
คฤหบดีเป็นบัณฑิตบ้าง
สมณะเป็นบัณฑิตบ้าง
เป็นผู้ถามปัญหากะภิกษุ
ผู้ไปไพรัชชประเทศต่างๆ มีอยู่
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต
จะทดลองถามว่า
พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
มีวาทะว่าอย่างไร
ตรัสสอนอย่างไร?
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ
เมื่อท่านทั้งหลาย พยากรณ์อย่างนี้แล้ว
กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต
จะทดลองถามว่า
ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ ในสิ่งอะไร
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระศาสดาตรัสสอน
ให้กำจัดฉันทราคะใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อท่านทั้งหลาย พยากรณ์อย่างนี้แล้ว
กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป
ก็มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นบัณฑิต
จะทดลองถามว่า
ก็พระศาสดาของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ทรงเห็นโทษอะไร
จึงตรัสสอน ให้กำจัดฉันทราคะใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ?
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อบุคคลมีความกำหนัด
ความพอใจ ความรัก
ความกระหาย
ความกระวนกระวาย
ความทะยานอยากใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ยังไม่ปราศจากไปแล้ว
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมเกิดขึ้น
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ทรงเห็นโทษนี้แล
จึงตรัสสอน ให้กำจัดฉันทราคะใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
แม้เมื่อท่านทั้งหลาย พยากรณ์อย่างนี้แล
กษัตริย์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
คฤหบดีผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
สมณะผู้เป็นบัณฑิตบ้าง
พึงถามปัญหายิ่งขึ้นไป
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็มนุษย์ทั้งหลาย
ที่เป็นบัณฑิตจะทดลองถามว่า
ก็พระศาสดา
ของท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ทรงเห็นอานิสงส์อะไร?
จึงตรัสสอน
ให้กำจัดให้ฉันทราคะใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ท่านทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว
พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อบุคคลมีความกำหนัด
ความพอใจ ความรัก
ความกระหาย
ความกระวนกระวาย
ความทะยานอยากใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ปราศจากไปแล้ว
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสย่อมไม่เกิดขึ้น
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ แปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
พระศาสดาของเราทั้งหลาย
ทรงเห็นอานิสงส์นี้แล
จึงตรัสสอนให้กำจัดฉันทราคะ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ก็เมื่อบุคคล เข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
จักได้มีการอยู่สบาย
ไม่มีความลำบาก
ไม่มีความคับแค้น
ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้
และเมื่อตายไปแล้ว
ก็พึงหวังสุคติไซร้
พระผู้มีพระภาค
ก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ
การละอกุศลธรรมทั้งหลาย
ก็เพราะเมื่อบุคคล เข้าถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย
ย่อมมีการอยู่เป็นทุกข์
มีความลำบาก
มีความคับแค้น
มีความเดือดร้อนในปัจจุบัน
และเมื่อตายไปแล้ว
ก็พึงหวังได้ทุคติ
ฉะนั้นพระผู้มีพระภาค
จึงทรงสรรเสริญ
การละอกุศลธรรมทั้งหลาย
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
แต่เมื่อบุคคล เข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
จักได้มีการอยู่เป็นทุกข์
มีความลำบาก
มีความคับแค้น
มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้
และเมื่อตายไปแล้ว
ก็พึงหวังได้ทุคติไซร้
พระผู้มีพระภาค
ก็จะไม่พึงทรงสรรเสริญ
การเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
ก็เพราะเมื่อบุคคล
เข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลายอยู่
มีการอยู่สบาย
ไม่มีความลำบาก
ไม่มีความคับแค้น
ไม่มีความเดือดร้อน ในปัจจุบันนี้
และเมื่อตายไปแล้ว
ก็พึงหวังได้สุคติ
ฉะนั้นพระผู้มีพระภาค
จึงทรงสรรเสริญ
การเข้าถึงกุศลธรรมทั้งหลาย
ท่านพระสารีบุตร ได้กล่าวคำนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้น
ชื่นชมยินดีภาษิต
ของท่านพระสารีบุตรฉะนี้แล



ภารสูตร

พระนครสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เราจักแสดงภาระ ผู้แบกภาระ เครื่องถือมั่นภาระ
และเครื่องวางภาระ แก่เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระพุทธดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ภาระเป็นไฉน?
พึงกล่าวว่า ภาระ คืออุปาทานขันธ์ ๕
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน?
คือ อุปาทานขันธ์ คือรูป
อุปาทานขันธ์ คือเวทนา
อุปาทานขันธ์ คือสัญญา
อุปาทานขันธ์ คือสังขาร
และอุปาทานขันธ์ คือวิญญาณ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ผู้แบกภาระเป็นไฉน? พึงกล่าวว่าบุคคล
บุคคลนี้นั้น คือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่าผู้แบกภาระ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็เครื่องถือมั่นภาระเป็นไฉน?
ตัณหานี้ใด นำให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัด
ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่ง
ในภพหรืออารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่าเครื่องถือมั่นภาระ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็การวางภาระเป็นไฉน?
ความที่ตัณหานั่นแลดับไปด้วย สำรอกโดยไม่เหลือ
ความสละ ความสละคืน ความพ้น ความไม่อาลัย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่าการวางภาระ
พระผู้มีพระภาค
ผู้พระสุคตศาสดา
ครั้นได้ตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้ จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์
ต่อไปอีกในภายหลังว่า
ขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล
เครื่องถือมั่นภาระ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลก
การวางภาระเสียได้เป็นสุข
บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่น
ถอนตัณหาพร้อม ทั้งมูลรากแล้ว
เป็นผู้หายหิวดับรอบแล้วดังนี้