กำหนดรู้ธรรมที่เนื่องด้วยอายตนะ 6

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า บุคคลเมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุ ตามความเป็นจริง
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นรูป ตามความเป็นจริง
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุวิญญาณ ตามความเป็นจริง
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นจักษุสัมผัส ตามความเป็นจริง
เมื่อไม่รู้ไม่เห็นความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขก็ตาม
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส เป็นปัจจัยตามความเป็นจริง
ย่อมกำหนัดในจักษุ กำหนัดในรูป กำหนัดในจักษุวิญญาณ กำหนัดในจักษุสัมผัส
กำหนัดในเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
เมื่อบุคคลนั้นกำหนัดนักแล้ว ประกอบพร้อมแล้ว ลุ่มหลงเล็งเห็นคุณอยู่
ย่อมมีอุปทานขันธ์ 5 ถึงความพอกพูนต่อไป
และเขาจะมีตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ ร่วมกันด้วยความกำหนัด
ด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลิน ในอารมณ์นั้นๆ เจริญทั่ว
จะมีความกระวนกระวาย แม้ทางกายแม้ทางใจเจริญทั่ว
มีความเดือดร้อน แม้ทางกายแม้ทางใจเจริญทั่ว
มีความเร่าร้อน แม้ทางกายแม้ทางใจเจริญทั่ว
เขาย่อมเสวยทุกข์ทางกายบ้างทุกข์ทางใจบ้าง

ส่วนบุคคลเมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุ ตามความเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นรูป ตามความเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุวิญญาณ ตามความเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นจักษุสัมผัส ตามความเป็นจริง
เมื่อรู้เมื่อเห็นความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์ มิใช่สุขก็ตาม
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส เป็นปัจจัยตามความเป็นจริง
ย่อมไม่กำหนัดในจักษุ ไม่กำหนัดในรูป
ไม่กำหนัดในจักษุวิญญาณ ไม่กำหนัดในจักษุสัมผัส
ไม่กำหนัดในความเสวยอารมณ์ เป็นสุขก็ตามเป็นทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม
ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
เมื่อบุคคลนั้นไม่กำหนัดนักแล้ว ไม่ประกอบพร้อมแล้ว ไม่ลุ่มหลงเล็งเห็นโทษอยู่
ย่อมมีอุปทานขันธ์ 5 ไม่พอกพูนต่อไป
และเขาละตัณหาที่นำไปสู่ภพใหม่ ร่วมกันด้วยความกำหนัด
ด้วยอำนาจความยินดี อันมีความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆได้
จะละความกระวนกระวาย แม้ทางกายแม้ทางใจได้
จะละความเดือดร้อน แม้ทางกายแม้ทางใจได้
จะละความเร่าร้อน แม้ทางกายแม้ทางใจได้
เขาย่อมเสวยสุขทางกายบ้างสุขทางใจบ้าง
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ
มีความพยายามอันใด ความพยายามอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ
มีความตั้งใจอันใด ความตั้งใจอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ
ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีในเบื้องต้น เที่ยงด้วยอาการอย่างนี้
เขาชื่อว่าอัฏฐังคิกมรรค อันประเสริฐถึงความเจริญบริบูรณ์

เมื่อบุคคลนั้นเจริญอัฏฐังคิกมรรคนี้อยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7
ถึงความเจริญบริบูรณ์ บุคคลนั้นเมื่อมีธรรมทั้ง 2 ดังนี้
คือสมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันเป็นไป เขาชื่อว่ากำหนดรู้ธรรม ที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง
ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
ทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง



กามคุณ 5 กามคุณนี้มี 5 อย่างแล 5 อย่างเป็นไฉน
รูปที่เห็นด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
เสียงที่รู้ได้ด้วยโสต อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
โผฏฐัพพะที่รู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รักประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด นี้แลกามคุณ 5 อย่าง